รถหนึ่งคัน ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนมากมาย ทั้งเล็ก และใหญ่ ซึ่งส่วนมากเราจะคิดถึงแต่ชิ้นส่วนใหญ่ๆ เพราะมันมองเห็นง่ายกว่า ทำให้บางครั้งเราก็หลงลืม หรือมองข้ามความสำคัญของชิ้นส่วนเล็กๆ ไป อย่างเช่น หัวเทียน (Spark Plug)
วันนี้ทาง ID Driver สถาบันสอนขับรถ ต่อใบขับขี่ เรียนขับรถ จะมาแนะนำก่อนอื่นเรามารู้จักกับหัวเทียนกันก่อนดีกว่า เพราะบางคนอาจเคยได้ยินแต่ชื่อ แต่ไม่ได้รู้จักจริงจัง หรือสัมผัสกับมันมาก่อน เผื่อวันนึงเกิดเหตุฉุกเฉิน จะได้เช็กอาการ และทำอะไรเป็นได้บ้าง
หน้าที่ของหัวเทียนคือ สร้างประกายไฟเพื่อเป็นการจุดระเบิดในห้องเผาไหม้ ทำให้เครื่องยนต์สตาร์ทติด และใช้งานขับเคลื่อนได้ เพราะเมื่อเชื้อเพลิงถูกสูบเข้าไป ประกายไฟที่เกิดจากหัวเทียนจะทำให้เกิดการจุดระเบิดพลังงานเกิดขึ้น และในรถหนึ่งคันจะมีหัวเทียนอยู่ 4 – 6 อัน โดยจะขึ้นอยู่กับขนาดเครื่องยนต์ของรถรุ่นนั้นๆ
ลักษณะของหัวเทียนที่มักเห็นกันบ่อยๆ จะมีโลหะเป็นเปลือกนอก รูปทรงเกลียว แถมยังทำเป็นรูปหกเหลี่ยม เพื่อจะได้ง่ายเวลาใช้ประแจขันเข้า-ออก ส่วนฉนวนจะใช้เป็นกระเบื้อง หรือไม่ก็เซรามิคที่ทนความร้อนสูงเคลือบอยู่ภายใน และขั้วกลางที่เป็นตัวนำไฟฟ้า ส่วนใหญ่จะเป็นทองแดง และเคลือบนิเกิ้ลเอาไว้ที่ส่วนปลาย เพื่อให้ทนทานต่อประกายไฟ
นอกจากนี้ หัวเทียน ยังแบ่งออกได้อีก 2 ชนิด โดยเหมาะกับรถใช้งานแต่ละประเภท ดังนี้
1. หัวเทียนร้อน มีความสามารถในการระบายความร้อนจากการเผาไหม้ออกไปสู่ภายนอกได้ช้า ทำให้ตัวมันเองมีความร้อนสะสมเอาไว้มาก และสาเหตุที่ต้องสะสมความร้อนเอาไว้ก็เพื่อไม่ให้หัวเทียนบอดนั่นเอง โดยหัวเทียนร้อนเหมาะสำหรับเครื่องยนต์ที่ใช้งานไม่หนัก ไม่ต้องใช้ความเร็วเกือบตลอดเวลา เช่น ขับใช้งานทั่วไป ไปทำธุระ ไปทำงาน หรือขับอยู่ในเมือง ในระยะทางที่ไม่ไกลมาก เป็นต้น
2. หัวเทียนเย็น มีความสามารถในการระบายความร้อนได้เร็ว และดีกว่าหัวเทียนร้อน เหมาะใช้กับเครื่องยนต์ที่ใช้งานหนัก วิ่งระยะทางไกลๆ ใช้ความเร็วสูง ทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะเมื่อวิ่งนาน ๆ จะทำให้ความร้อนสะสมมีมากพอที่จะเผาไหม้ให้คราบเขม่าไหม้ ไม่เกิดอาการหัวเทียนบอดได้
และถ้าไม่อยากให้เครื่องยนต์มีปัญหา ก็ควรเลือกใช้หัวเทียนให้ถูกประเภท เพราะหากใช้หัวเทียนร้อน ในเครื่องยนต์ที่ใช้ความเร็วสูง ทำงานตลอดเวลานานๆ จะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น หัวเทียนละลาย กระเบื้องแตก เกิดการชิงจุดระเบิดก่อน จนทำให้เครื่องยนต์เสียหาย ฯลฯ ส่วนการใช้หัวเทียนเย็นในเครื่องยนต์ที่ขับใช้งานทั่วไป ในระยะทางสั้นๆ อาจทำให้เกิดคราบสกปรกขึ้นบริเวณหัวเทียน ทำให้กระแสไฟวิ่งผ่านลำบาก เครื่องสะดุด เดินไม่เรียบ ฯลฯ
สุดท้ายนี้หากรถของคุณมีอาการ เครื่องยนต์เดินไม่เต็มสูบ เร่งไม่ขึ้น มีอาการสั่นผิดปกติเวลาเดินเบา กินนำมันเชื้อเพลิงมากกว่าปกติ สตาร์ทติดยาก ฯลฯ ให้เช็กดูให้ดี เพราะอาการแบบนี้อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ รวมไปถึงหัวเทียน เนื่องจากบางคนอาจมองไปที่ปัญหาใหญ่ๆ ก่อน จนหลงลืมไปว่า ที่รถยนต์เกิดอาการผิดปกติแบบนี้ อาจเป็นเพราะแค่หัวเทียนเสียก็ได้ และเพื่อความชัวร์ คุณควรเปลี่ยนหัวเทียน (แบบธรรมดา มาตรฐาน) ยกชุดทุกๆ 20,000 – 30,000 กิโลเมตร
ขอขอบคุณข้อมูล : เยลโล่เซอร์วิส